หลังจากเปิดเรียน มีการระบาดของโรค มือเท้าปาก มากขึ้น เห็นได้ชัด

กลุ่มอาการมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสได้หลายตัวมาก มี Coxsackie A, เช่น CA6, CA16  Coxsackie B, Enterovirus-A และอื่นๆอีกมาก

ตัวที่รุนแรงที่สุดที่จะมีโอกาสเกิดสมองอักเสบ เป็น EV-A 71 โอกาสที่เกิดสมองอักเสบส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต อายุยิ่งน้อยยิ่งมีโอกาสเกิดมากกว่า อายุที่มากขึ้น

 

(ไวรัส EV-A71)

ในการระบาดปีนี้ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ CA6 จะแสดงอาการทางผิวหนังค่อนข้างมาก มีตุ่มขึ้นที่เพดานปาก  มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า รอบก้น และเมื่อหายแล้วบางรายจะมีร่องรอยที่เล็บ

ในการระบาด บางปี จะเกิดจากสายพันธุ์ EV71 ดังแสดงในรูป ที่เคยระบาดในปี 2560  หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทางศูนย์เรา เฝ้าระวังสายพันธุ์การระบาดของโรคมือเท้าปากมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบันดังแสดงในกราฟ ให้เห็นแต่ละปี สายพันธุ์เป็นอะไร เพื่อประโยชน์ในการดูแลและการป้องกัน วัคซีนป้องกัน โรคมือเท้าปาก ที่พูดกัน ที่จริงเรียกไม่ถูก จะต้องเรียกว่าวัคซีนป้องกัน EV71  เท่านั้น เพราะไม่สามารถป้องกันข้ามสายพันธุ์มาป้องกัน CA หรือ CB ได้ การให้ในปีนี้ จะไม่ป้องกันมือเท้าปากในปีนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็น CA6

ไวรัส EV71 ยังแยกสายพันธุ์ย่อยได้มากกว่า 10 สายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ A B  และ C  Bจะเป็น B 1 ถึง B 5  C จะเป็น C1 -C5 สายพันธุ์ที่ระบาดขึ้นอยู่กับภูมิภาคที่พบแตกต่างกันไป

วัคซีนป้องกัน EV71 ทำมาจากสายพันธุ์ EV71 สายพันธุ์ย่อย C4 แต่การระบาดในประเทศไทยของเราในปี 2560 เป็นสายพันธุ์ EV-71 B5 และก่อนการระบาดของ covid  เราพบว่า EV71 ที่พบ เริ่มจะพบสายพันธุ์เป็น C1 แล้วก็หยุดไป และในปีนี้การระบาดส่วนใหญ่ที่ตรวจพบขณะนี้ ไม่ใช่ EV71 แต่เป็น CA6

ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิก ในการยืนยันการข้ามสายพันธุ์ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไร มีเพียงการศึกษาในหลอดทดลองเท่านั้น วัคซีนจีนแผ่นดินใหญ่ทำมาจากสายพันธุ์ C4 วัคซีนไต้หวันที่ทำการศึกษา ทำจากสายพันธุ์ B4

สิ่งจะต้องทำความเข้าใจคือ วัคซีนมือเท้าปาก EV71 ไม่สามารถป้องกัน มือเท้าปากที่เกิดส่วนใหญ่ในประเทศไทย ที่มีสายพันธุ์ CA6, CA16 และอื่นๆได้ จะป้องกันจำเพาะต่อ EV71 และสิ่งที่จะต้องทำการศึกษาการข้ามสายพันธุ์ในการป้องกันระหว่าง EV71 C4 มาป้องกันสายพันธุ์ EV71 B5 หรือ C1 ที่พบในบ้านเรา ได้มากน้อยเพียงไร เป็นสิ่งที่ควรจะมีวางแผนการศึกษาต่อไป เพื่อพิจารณาการนำวัคซีนมาใช้ต่อไปในอนาคต

 

 

 

บทความโดย ยงภู่วรวรรณ  ราชบัณฑิต : 20 สิงหาคม 2565